เป็นโครงการที่มูลนิธิคุณพ่อเรย์จัดให้มีการรณรงค์ทุกปีเพื่อจัดหาเงินบริจาคและข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักหล่อเลี้ยง 850 กว่าชีวิตใน 10 โครงการย่อยของมูลนิธิฯ โดยจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม อาศัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นไฮไลท์ของการรณรงค์ แต่ในปี 2554 นี้พิเศษหน่อย นั่นคือมีผู้พิการอพยพหนีภัยน้ำท่วมมาอยู่ที่โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่จำนวนกว่า 250 ชีวิต เราจึงต้องการข้าวเพิ่มมากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะได้พิเศษไปจากเดิมหรือไม่ ปี 2553 ที่ผ่านมาเราได้ทั้งเงินและข้าวจำนวนประมาณ 1 ล้านบาทเศษ จัดรณรงค์ประมาณสามสี่วัน ในปีนี้เราต้องการมากขึ้นจากเดิม แต่ทว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาในยุโรปและอเมริกา ความวุ่นวายทางการเมืองของหลายประเทศในแถบตะวันออกกลาง ปัญหาภัยพิบัติทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยเราที่เจออภิมหาอมตะอุทกภัย (ที่ใช้คำว่าอมตะเพราะมันท่วมซ้ำซากได้ทุกปี) ได้ส่งผลต่อยอดเงินบริจาคทั่วทุกระบบและทุกองค์กร คนมีรายได้ลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น เขาก็ย่อมจะต้องบริจาคได้น้อยลง องค์กรการกุศลทั้งหลายก็ต้องปรับตัวลดรายจ่าย และออกแรงมากกว่าเดิมเพื่อหารายได้ ทางเรามูลนิธิคุณพ่อเรย์ก็ต้องทุกเทพละกำลังอีกสิบเท่าในการหาทุน ทำงานจนตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อตกันแล้ว
โครงการกองทุนข้าว SOS Rice 2011 ได้เปิดแถลงข่าวในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ณ.ห้องรอยัลฮอลล์ ศูนย์คณะพระมหาไถ่ พัทยา งานเริ่มเวลา 14.00 น. โดยคุณพ่อพิชาญ ใจเสรีเป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการของโครงการหลายท่านมาร่วมอธิปรายและหาแนวทางในการระดมทุนในปีนี้ อาทิเช่น คุณรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา . คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี , คุณรัตนชัย สุทธิเดชานัย สมาชิกสภาผู้แทนเมืองพัทยา , และนักธุรกิจในเมืองพัทยาอาทิเช่น คุณรุ่งทิพย์ สุขศรีการ ผู้บริหารโรงแรมซันบีม พัทยา , คุณเปรมฤดี จิตตวุฒิการ กรรมการผู้จัดการภัตตาคารคิงส์ซีฟู้ด , Mr.Neils Colov จากหนังสือพิมพ์ Pattaya People , Mr. Peter Malhotra จากหนังสือพิมพ์ Pattaya Mail และผู้มีเกียรติอีกหลายท่าน มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักมาทำข่าว สุดท้ายก็ถ่ายรูปร่วมกับเด็กๆในโครงการของมูลนิธิคุณพ่อเรย์ด้วยความชื่นมื่น
สิ้นเสียงการเป่านกหวีดเริ่มต้นมหกรรมระดมทุน ฝ่ายพัฒนาองค์กรก็เริ่มติดต่อเพื่อเปิดบู๊ธ SOS Rice ตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่เว้นแม้แต่ตลาดสดทั่วเมืองพัทยา ส่วนใหญ่ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของสถานที่เป็นอย่างดี เราสามารถขอเปิดได้กว่า 20 แห่ง มีบางแห่งที่ลองเปิดแล้วไม่ได้ผลเราก็ขอยกเลิกไป บู๊ธ SOS Rice ที่หนึ่งๆจะประกอบไปด้วยหัวหน้า 1 คน อาสาสมัครชาวต่างชาติ 1 คน และเด็กๆที่จะมาจากบ้านต่างๆของมูลนิธิอีก 4 คน ถ้าเป็นที่ใหญ่ๆก็อาจใช้คนมากกว่านี้ มีการตั้งกล่องบริจาค ตั้งป้ายโครงการ และแจกเอกสาร วันหนึ่งปกติจะมีสองรอบคือรอบเช้าและรอบบ่าย ถ้าตรงไหนมีลูกค้าดีก็ขยายไปจนถึงรอบค่ำสี่ทุ่มด้วย ตามกำหนดก็เริ่มในช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่เราคาดว่าจะมีคนมาซื้อฃองตามห้างมากที่สุด ตั้งแต่วันที่ 19, 20, 25, 26, 27 พฤศจิกายน และวันที่ 2, 3, 4, 5 ธันวาคม 2554 รวม 9 วันพอดี
มีข้อสังเกตจากหลายคนเมื่อเทียบกับปีที่แล้วว่า เราได้ข้าวน้อยลง ก็คงเป็นเรื่องปกติเพราะข้าวและเงินบริจาคหลายๆส่วนถูกส่งไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมก่อนหน้านี้แล้ว และบางทีผู้ที่เคยบริจาคก็เป็นผู้ประสบภัยเสียเอง อย่างไรก็ตามโครงการกองทุนข้าว SOS Rice ก็ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะไม่มีอะไรมาขวางกั้นความรัก ความเมตตาจากพี่น้อง สู่ผู้ด้อยโอกาสที่ยังรอคอยความช่วยเหลืออย่างมีความหวังได้ แม้ตัวเลขจะลดน้อยลงก็ตามที
ขอแบ่งปันประสบการณ์จากการที่ได้ไปร่วมตั้งบู๊ธ SOS Rice และสังเกตการณ์ในที่ต่างๆที่ผ่านมาสักเล็กน้อย บู๊ธนี้จะเน้นการบริจาคอย่างเดียวโดยใช้คนเป็นสื่อ ไม่มีการแสดงนิทรรศการ ให้ข้อมูลรูปภาพ หรือฉายวีดีโอ เราใช้วิธีการแจกใบปลิวเชิญชวนให้บริจาคซึ่งมีภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น และรัสเซีย คนที่ได้รับก็จะเข้าใจว่าสามารถบริจาคเป็นข้าวสารโดยหาซื้อจากห้างที่เราไปตั้งบู๊ธนั่นเอง หากไม่สะดวกก็สามารถบริจาคเป็นเงินก็ได้โดยหยอดในกล่องบริจาค ทีมงานของแต่ละบู๊ธก็จะมีเด็กๆในโครงการ ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต นักเรียนจากโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ และอาสาสมัครชาวต่างชาติที่มาช่วยงานในมูลนิธิ ซึ่งจำเป็นสำหรับเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา เด็กๆที่มาร่วมออกบู๊ธต่างก็อาสามาด้วยใจรัก ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย หากเราไม่ช่วยกันแล้วใครจะช่วย มิใช่ว่าเราจะเอาเด็กและผู้พิการมาหาผลประโยชน์ แต่เราต้องการจะเน้นให้พวกเขามีส่วนร่วมในการหารายได้เข้ามูลนิธิ มิใช่รอเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว
“ฉันจะบริจาคเป็นเงินแทนข้าวสาร มิทราบว่าข้าวสารถุงละเท่าไหร่” ชาวต่างชาติท่านหนึ่งถามเป็นภาษาอังกฤษ พลางมองดูถุงข้าวสาร 5 กก.ที่มีผู้บริจาควางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ มันมีข้าวสองชนิดคือข้าวขาวธรรมดาถุงละร้อยสี่สิบบาท กับข้าวหอมมะลิถุงละสองร้อยแปดสิบบาท ราคาต่างกันสองเท่า แต่เดชะบุญที่ข้าวหอมมะลิถุงหนึ่งอยู่ด้านบนเผยให้เห็นราคาพิมพ์ติดอยู่บนถุงด้วย “280 Baht, sir” เราก็ปากไวโดยไม่ต้องคิด พลางชี้ให้เขาดูราคาชัดๆ “ตกลงฉันจะจ่ายให้สองถุง” แล้วฝรั่งท่านนั้นก็ควักกระเป๋าเอาเงินจำนวน 600 บาทใส่ไปในกล่องบริจาค เราก็ส่งยิ้มและกล่าวคำขอบคุณมากมายก่อนที่เขาจะเดินจากไป อันที่จริงเราไม่ได้ตั้งใจเลยที่จะพูดความจริงไม่ครบ แต่หลักการขายเขาบอกว่าเราต้องช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจโดยไม่ลังเล และเรียบง่ายที่สุด
“Oh my God, it’s impossible!” อาสาสมัครชาวต่างชาติของเราคนหนึ่งถึงกับอุทานออกมาอย่างไม่เชื่อสายตา เขาบอกกับเราเมื่อออกเยี่ยมตามบู๊ธในจุดต่างๆ ได้ความว่าเขาได้รับการบริจาคจากฝรั่งคนหนึ่งจำนวน 300 บาท อันที่จริงก็ไม่ได้เป็นเงินมากมายนัก เพราะบางคนก็ใส่แบงค์ 500 หรือแบงค์ 1,000 ก็ยังมี แต่ฝรั่งชาตินี้เขาถือว่าตืดสุดๆในการทำบุญ แบงค์ยี่สิบยังยากที่จะกระเด็นออกจากกระเป๋า เอาล่ะ…สิ่งอัศจรรย์ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ มันเป็นประสบการณ์ที่จะประทับใจคนทำงานไปอีกนานเท่านาน
สองสัปดาห์ของการรณรงค์ผ่านไปแล้ว ยอดการบริจาคของเราได้เพียงครึ่งเดียวของปีที่แล้ว ทั้งๆที่เปิดจุดตั้งบูธมากกว่าเดิม และใช้วันมากกว่าเดิมถึงสามเท่า คราวนี้ก็ถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะมีความต้องการมากขึ้นกว่าเดิม แต่เราก็ไม่สามารถหนีผลกระทบทางเศรษฐกิจและภัยพิบัติได้ เรายังเชื่อมั่นว่าจำนวนคนที่ให้ความช่วยเหลือมูลนิธินั้นยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ยอดเงินจะน้อยลงก็ไม่เป็นไร เมื่อเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้เราทุกคนคงต้องใช้วิถีพอเพียง ขยัน อดทน ประหยัด และร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ แล้วทุกสิ่งก็จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี